ปี 2009 สมัยที่ประเทศไทยเรายังมีจำนวน Blog แบบนับนิ้วได้ คงไม่ผิดที่จะบอกว่า ผมน่าจะเป็น 1 ใน 50 คนแรกในประเทศไทยที่ทำ Personal Brand โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร รู้แค่ว่า ผมเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับโลกออนไลน์ นามปากกา อนุชา ลีวรกุล ซึ่งก็ทำให้ผมต้องสร้าง Blog ขึ้นมาชื่อว่า digitalmoneylife.com (ตอนนี้กลายเป็น seodml.com และกำลังจะย้ายมาที่นี่แทนทั้งหมด) ซึ่งก็ไม่ได้ตั้งใจอีกนั่นแหละว่าจะให้มันสร้างชื่ออะไร แค่เอาไว้ใส่บทความที่ไม่ผ่านการตรวจจากบก. สำนักพิมพ์ แต่เขียนไปเขียนมา กลายเป็นสนุกมือ จากแนะนำตัว จนเริ่มเล่าเรื่องส่วนตัว แต่หลักๆ คือบทความเคล็ดลับการหาเงินออนไลน์กว่า 50 บทความที่ทยอยโพสขึ้นไป ภายใน 3-4 เดือน จากผู้ชมวันละ 4-5 คนกลายเป็น 500-1000 คนต่อวัน ซึ่งส่งผลทำให้คนรู้จักชื่อ และทำให้หนังสือขายดีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้วยความที่บทความบน Blog มันไปเรียกผู้ชมที่ค้นหาคำต่างๆ เกี่ยวกับหนังสือของผมผ่าน Google…พูดแล้วก็เหมือนมันผ่านมา 100 ปี แต่นั่นแหละคือรูปแบบหนึ่งของ Personal Branding (ผมว่ามันก็เหมือนการขายตัวออนไลน์นะ แต่ไม่ใช่แบบนั้น แต่เป็นการนำเสนอตัวเอง…นั่นแหละ อย่าให้พูดเยอะเดี๋ยวไปกันใหญ่)

แม้คำว่า Personal Branding อาจจะเป็นคำที่เริ่มจะเกร่อไป แต่น้อยคนนักจะทำแล้วได้ผล ซึ่งอันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยแรกที่ผมเจอมากับตัวก็คือ การมี Story หรือการมีเรื่องราวความเป็นมาของยี่ห้อหรือตัวคุณเอง เช่น ประสบการณ์การล้มลุกคลุกคลาน ความผิดพลาด ฯลฯ คนเราจะจำคุณได้แม่นยำที่สุดจากความรู้สึกที่เขามีต่อเรื่องราวของคุณ ไม่แปลกที่ใครๆ ก็มักพูดกันว่า Story คือการตลาดที่ทรงพลังที่สุด ถ้าไม่เชื่อก็ดู Apple, KFC หรือแบรนด์ดังอีกมากมายเป็นตัวอย่าง

Don’t be a business man, be a human and be yourself because there is only one version of you in this world

นอกจากนั้นก็จะเป็นเรื่องเนื้อหา และการเลือกเครื่องไม้เครื่องมือเช่น Platform (Facebook, IG, YouTube, Blog, TickTok ฯลฯ) แต่ขั้นตอนแรกจริงๆ คุณจะต้องตั้งคำถาม “ทำไม”ก่อนว่า คุณจะต้องการมาเสียเวลาสร้างชื่อตัวเองบนโลกออนไลน์ขึ้นมาทำบ้าอะไร ทำแล้วอยากได้กลับคืนมา คุณอาจจะทำกราฟฟิค คุณอาจจะอยากให้โลกเห็นฝีมือของคุณ ความสวยงามของทุกอย่างที่เลือกใช้และเลือกทำจึงต้องนำมาที่หนึ่ง เพื่อให้คนสนใจมาจ้างคุณทำงาน คุณก็จะเริ่มรู้แล้วว่า Platform ที่เลือกก็ควรจะอำนวยการแสดงภาพอย่าง IG, Facebook หรือ Pinterest ซึ่งอาจรวมถึงเว็บไซต์ส่วนตัว เป็นต้น

แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปบอกตัวเองได้ ผมคงอยากจะบอกว่า ให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งที่ง่ายที่สุดก่อน ไม่งั้นชาตินี้คงไม่ได้ทำสักที เพราะสำหรับคนทั่วไป การมี Blog การมีโดเมนเนมของตัวเองยังถือเป็นเรื่องยุ่งยาก เหมือนมีลูกทันที ต้องดูแล ต้องประคบประหงม เพราะเว็บโดนแฮ็คที ไม่ต้องทำมาหากินกันไปเลย การใช้ Facebook page ก็น่าจะง่ายและสบายใจกว่าเยอะ

ชื่อเป็นเรื่องสำคัญ การเลือกชื่อยี่ห้อ จะใช้ชื่อคุณเอง หรือจะสร้างชื่อ Personal Brand ขึ้นมา คุณควรเลือกใช้ที่ไม่ซ้ำใครจะดีที่สุด แต่ถ้าชื่อจริงของคุณฟังดูโอเค ใช้ชื่อตัวเองก็จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้หมด เช่น เวลาค้นหาบน Google มันก็ไม่พลาดว่าเป็นคุณแน่นอน​ แค่อย่ายาว และให้จำง่าย จะว่าไปถ้ายังคิดไม่ออก ก็ให้สร้างไปก่อน แล้วคุณจะเริ่มรู้เองว่าแนวทางจะเป็นอย่างไร มีคน Re-brand กันมากมาย เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนโลโกกันทีหลังได้ แต่ก็จริงที่ว่า ถ้าคุณดังขึ้นมา ต่อให้ชื่อหมู่หมากาไก่มันก็จะติดหูไปเอง

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *